นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคยังมีความจำเป็น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ จากประชาชนในการตัดวงจรนำโรค โดยการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด และช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านเรือน และชุมชนของตนเอง สำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวจึงได้ร่วมมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออก ดำเนินการวิจัยเพื่อให้ได้หมู่บ้านต้นแบบในการควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยใช้นวัตกรรมป้องกันกำจัดยุงลายหรือกับดักไข่ยุงลีโอแทรป (LeO-Trap) ที่ประดิษฐ์ขึ้นและได้รับการยอมรับในระดับชาติ โดยได้รับรางวัล จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ระดับ Platinum Award ถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลเลิศรัฐจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนา ระบบราชการ นอกจากนี้ได้รับเลือกจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติให้เป็นหนึ่งในสิบสุดยอดนวัตกรรมด้านสังคม
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้โดยอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับยุงลาย การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ และการตัดวงจรการเกิดโรคโดยใช้นวัตกรรมให้กับ อสม.และประชาชน โดยลงสำรวจพื้นที่หมู่ 8 และหมู่ 13 ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ทั้ง 2 หมู่บ้านรวม 413 หลังคาเรือน เพื่อปฏิบัติงานร่วมกัน และได้มอบนวัตกรรมให้เจ้าของบ้าน พร้อมทั้งสาธิตวิธีใช้งาน เพื่อดำเนินการสำรวจ แหล่งเพาะพันธุ์ในแต่ละบ้านด้วยตนเอง มีกิจกรรมใส่ซีโอไลท์กำจัดลูกน้ำยุง วางกับดักไข่ยุงบ้านละ 4 กับดัก (ในบ้าน 2 จุดและนอกบ้าน 2 จุด) และรณรงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ทาป้องกันยุง เมื่อออกไปทำภารกิจนอกบ้าน จนกระทั่งเมื่อครบ 1 เดือน อสม.จะเก็บฟองน้ำจากกับดักไข่ยุงมาส่งให้ศูนย์วิทย์ฯ เพื่อนับจำนวนไข่ยุงในแต่ละบ้าน จากนั้นจะแจ้งผล การสำรวจต่อเจ้าของบ้าน เพื่อกระตุ้นให้ตื่นตัวในการช่วยกันกำจัดยุงลาย
ผลจากการดำเนินงานดังกล่าว พบว่า ดำเนินการวางกับดักไข่ยุง จำนวน 1,652 กับดัก ดักไข่ยุงลายได้ 127,248 ฟอง ภายในระยะเวลา 7 เดือน โดยที่กับดักไข่ยุงสามารถลดประชากรยุงลายได้ 31,812,000 ตัว โดยไม่ต้องพ่นสารเคมีกำจัดแมลง จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยังช่วยประหยัดพลังงาน เพราะเป็นกับดักไข่ยุงแบบไม่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ จำนวนยุงลายลดลงและไม่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกในชุมชน
“ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการเช่นเดียวกันนี้ ในพื้นที่บ้านวังฟ่อน อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี เป็นการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยใช้นวัตกรรมกำจัดยุงลายที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยนักวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้จะขยายการดำเนินงานไปยังหมู่บ้านต่างๆ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ครอบคลุม ทั่วทุกภาค เพื่อให้การกำจัดยุงลายได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
************** 15 มิถุนายน 2565