(10 ก.ย.65 )นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้ทำหนังสือถึงน.ส.นภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยข้อมูลของสิบตำรวจโทหญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน คณะทํางานหรือตําแหน่งอื่น ๆ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใด ตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด เงินเดือน ค่าเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน และ สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ได้รับตามกฎหมายหรือระเบียบ และอยู่ในคณะกรรมาธิการชุดใด ทั้งหมดกี่ชุด และเคยร่วมประชุมหรือร่วมเดินทางไปราชการภายในประเทศและต่างประเทศกับคณะกรรมาธิการชุดใด ที่ไหนบ้างนั้น
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้แจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในวงงานรัฐสภาของสิบตำรวจโทหญิง กรศศิร์ บัวแย้ม และสิบตรีหญิง ปัทมา ศิริรัตน์ ในช่วงสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (31 กรกฎาคม 2557 – 21 พฤษภาคม 2562) และสมัยวุฒิสภา (11 พฤษภาคม 2562 - 7 กันยายน 2565) โดยสรุปได้ดังนี้
กรณี สิบตำรวจโทหญิง กรศศิร์ บัวแย้ม การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ และค่าตอบแทน ไม่พบว่ามีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจําตัวสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผู้ช่วยดำเนินงานของ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2561 (ไม่มีคำสั่งพ้นจากตำแหน่ง) โดยไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้กําหนดไว้ตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ส่วนเรื่องการได้รับเบี้ยประชุม สิบตำรวจโทหญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ 2 ครั้ง โดยไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม เคยร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานภายในประเทศ 2 ครั้ง ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน 2561 จังหวัดเชียงราย (โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง) และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2561 จังหวัดระนอง (โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง)
ไปศึกษาดูงานต่างประเทศ 1 ครั้งคือ การร่วม เดินทางไปประชุมทวิภาคีที่สหพันธรัฐรัสเซีย - สาธารณรัฐฟินแลนด์ ระหว่างวันที่ 7-16 เมษายน 2561 (โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง) เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ
การศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2561-21 พฤษภาคม 2562 ไม่มีคำสั่งพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากสิ้นสุดตามวาระของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งนี้ ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้ง บุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 6 ข. กรณีแต่งตั้งบุคคล ที่เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในอัตรา เดือนละ 4,500 บาท และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ โดยไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม และในสมัยวุฒิสภา (11 พฤษภาคม 2562 - 7 กันยายน 2565) ไม่พบว่ามีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจําตัวสมาชิกวุฒิสภา ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิกวุฒิสภา และผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกวุฒิสภา แต่เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2562 - 30 กันยายน 2563 ไม่มีคำสั่งพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากสิ้นสุดวาระตามปีงบประมาณ ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบรัฐสภา ข้อ 6 ข. กรณีแต่งตั้งบุคคลที่เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในอัตราเดือนละ 6,000 บาท เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ 4 ครั้ง โดยไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562 -22 สิงหาคม 2565 ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้กําหนดไว้ตามระเบียบรัฐสภา และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการที่จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2563 (โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง)
นายวัชระ กล่าวว่า ขอขอบคุณสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่ตอบหนังสืออย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน นับเป็นหน่วยราชการที่มีมาตรฐานเทียบเท่าหน่วยงานของรัฐที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะไม่พบในหน่วยงานราชการทั่วไป จากข้อมูลเบื้องต้นที่ส่งมา แม้ว่าจะบอกว่าไม่พบว่าส.ต.ท.(หญิง)กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นผู้ช่วยสนช.หรือสว.ท่านใด
แต่เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาและเลขานุการหรือนักวิชาการ สภาละ2คณะคือ สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
และเลขานุการคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการเดินทางไปดูงานราชการต่างประเทศที่รัสเซียและฟินแลนด์ ระหว่างวันที่ 7-16 เมษายน 2561 ถ้าไม่ใช่บุคคลพิเศษจริงๆจะไม่ได้ไปเด็ดขาด
ต้องขอข้อมูลว่าหัวหน้าคณะเป็นใคร มีบุคคลร่วมคณะทั้งหมดกี่คน ใครเป็นคนเสนอชื่อให้ไป และเป็นผู้ติดตามสนช.ท่านใดไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ ใช้งบประมาณเท่าไร ไปกับบริษัททัวร์ชื่ออะไร
กลับมาแล้วทำรายงานพร้อมภาพถ่ายส่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างไร มีจำนวนกี่หน้า ประสบความสำเร็จในการไปดูงานต่างประเทศหรือไม่ คุ้มค่ากับงบประมาณนับล้านบาทที่เสียไปหรือไม่
ต่อมาในสมัยสว. ปัจจุบันเธอได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เธอยังได้เดินทางไปราชการภายในประเทศ ทั้งที่จ.เชียงราย จ.ระนอง จ.ระยอง แสดงว่ามีความสำคัญมาก ต้องดูรายชื่อคณะกรรมาธิการที่ร่วมเดินทางทั้งหมด และผลรายงาน ภาพถ่ายการเดินทางไปปฏิบัติราชการต่างจังหวัดด้วย ซึ่งต้องทำหนังสือขอให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเปิดเผยรายละเอียดต่อไป
นายวัชระ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่เธอได้สิทธิเดินทางไปราชการต่างประเทศนั้น ถ้าไม่ใช่บุคคลพิเศษของท่านผู้ทรงเกียรติจริงๆ จะได้ไปหรือไม่ ไปสายการบินอะไร ต้องดูเลขที่นั่งบนเครื่องบิน
เธอนั่งเฟิร์สคลาสติดกับสนช.คนใด เช็คตั๋วเครื่องบินกรุงเทพฯ-มอสโก-ฟินแลนด์-กรุงเทพฯ ทั้งดูว่าเธอเป็นผู้ติดตามของกรรมาธิการคนใด เพราะในเอกสารที่ขออนุมัติการเดินทางไปราชการต่างประเทศต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติในขณะนั้น หากไม่ใช่กรรมาธิการ ต้องระบุสถานะของบุคคลร่วมคณะทั้งหมดทุกคนว่าติดตามกรรมาธิการคนใด ใครเป็นผู้เสนอชื่อในคณะกรรมาธิการให้พิจารณาอนุมัติด้วย ซึ่งเชื่อว่ามีข้อมูลมากกว่านี้แต่ข้าราชการอาจจะตาพร่าตกหล่นได้ จึงจะทำหนังสือถึงเลขาธิการวุฒิสภาสั่งการให้ผบ.กลุ่มงานตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้งหนึ่งในทุกประเด็นต่อไป อยากขอเตือนว่าการปกปิดทำลายข้อมูลหรือส่งข้อมูลเท็จอาจนำไปสู่ศาลอาญาคดีทุจริตได้