(20 ต.ค.65)เมื่อเวลา 11.40 น.ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงการแถลงข่าวของนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจึเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เมื่อวันที่ 17 ต.ค.65 ว่า เป็นความเท็จหลายประเด็นและไม่เป็นการตอบข้อสงสัยของสังคม ดังนี้
1. การที่บริษัทอ้างว่า นายวัชระ เพชรทอง และนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับโครงการนั้นไม่เป็นความจริง เพราะโครงการนี้สร้างด้วยเงินภาษีของประชาชนสูงถึง 12,280 ล้านบาท มีการทำสัญญาเมื่อวันที่ 30 เม.ย.56 ในขณะที่ตนและนายวิลาศเป็น ส.ส. จึงมีหน้าที่ติดตามและตรวจสอบโครงการนี้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ม. 63 และ ม. 78 ให้อำนาจหน้าที่ประชาชนชี้เบาะแสการทุจริตแก่ ป.ป.ช.
2. บริษัทกล่าวหาว่าเป็นความพยายามสกัดขัดขวางการส่งมอบงานนั้นเป็นความเท็จอย่างชัดเจน เพราะตามสัญญาเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เม.ย.56 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การส่งมอบงานนั้นการก่อสร้างต้องเสร็จสมบูรณ์ 100% เมื่องานไม่เสร็จสมบูรณ์ประชาชนย่อมมีสิทธิทักท้วงต่อทางราชการ โดยบริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้ทำหนังสือส่งมอบงานแล้วเสร็จ 100% เมื่อวันที่ 1 ก.ค.65 จึงได้ยื่นหนังสือถึงนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานคกก.ตรวจการจ้างฯ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.65 ในห้องประชุมฯ ผลการประชุมคณะกก.มีมติเอกฉันท์ไม่รับมอบงานจาก บ.ซิโน-ไทยฯ
3. บริษัทอ้างการก่อสร้างมีความซับซ้อน ยากที่คนนอกอุตสาหกรรมจะเข้าใจเป็นความเท็จ เพราะสิ่งที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ตรวจพบคือการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบและข้อกำหนดในสัญญาซึ่งได้ส่งหนังสือแจ้งนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะคู่สัญญาให้ทราบเพื่อแก้ไขให้ถูกต้องแต่นางพรพิศรับทราบแล้วเพิกเฉยมากกว่า 20 เรื่อง นายวิลาศจึงไปยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบเรื่องการทุจริตต่อไป
4. บริษัทอ้างว่าได้มีการซ่อมแซมแก้ไขนั้น เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างตามสัญญาอยู่แล้วที่ต้องส่งมอบงานเสร็จสมบูรณ์100% ตามสัญญาเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เมษายน 2556 ข้อ 35.1 และผนวก 9 ข้อ 20.2 แต่บริษัทไม่ทำทั้งหมด เช่น ลิฟท์ฝั่ง สว. 3 ตัว ที่เสียเนื่องจากฝนตกน้ำรั่วและท่วมลงมาที่ลิฟท์ 3 ตัว บริษัทซิโน-ไทยฯ ทำหนังสือถึงสภาฯ ปฏิเสธที่จะแก้ไขให้ลิฟท์ฝั่ง สว.จึงใช้ไม่ได้จนถึงวันนี้
5. บริษัทอ้างว่ามีกระบวนการกดดันและสร้างกระแส ทำให้การตรวจรับงานไม่เป็นไปตามธรรมชาตินั้นเป็นเท็จ เพราะถ้าบริษัททำอย่างตรงไปตรงมา ก่อสร้างตามแบบและสัญญาทุกประการ ก็ไม่มีใครปฏิเสธที่จะไม่รับงานได้ และที่ผ่านมาอาจมีกระบวนการการครอบงำข้าราชการให้ปฏิบัติในสิ่งที่ขัดต่อหลักกฎหมายและธรรมาภิบาล เช่น
5.1. นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ เรียกประชุมเฉพาะกรรมการเสียงข้างมากเข้าประชุมร่วมกับเอกชนและบุคคลที่มีตำแหน่งทางการเมือง โดยไม่เชิญกรรมการเสียงข้างน้อย 3 คนเข้าประชุมด้วย ส่อเจตนาอะไรและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
5.2 นายสาธิตกล่าวในที่ประชุมว่าการตรวจสอบไม้ทุกแผ่นในสภาว่าตรงตามสเปคหรือไม่ ให้ผู้ร้องเรียนเป็นคนออกค่าใช้จ่าย ทั้งที่ต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง เหตุใดจึงไม่ให้กรมป่าไม้ตรวจสอบไม้ทุกแผ่นว่าตรงตามข้อกำหนดหรือไม่ เป็นต้น
6. บริษัทอ้างว่าหากมีกระบวนการกลั่นแกล้งนั้น ขอยืนยันว่าไม่มีการกลั่นแกล้งใด ๆ ทั้งสิ้น ประชาชนธรรมดา ๆ จะไปกลั่นแกล้งบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีอำนาจบารมีมากล้นได้อย่างไร แต่ตนและนายวิลาศได้ทำหน้าที่พลเมืองดีปกป้องเงินภาษีของประชาชนและประเทศชาติ
7. นายภาคภูมิ ศรีขำนิ กก.ผู้จัดการใหญ่ บ.ซิโน-ไทยฯ แถลงว่าบริษัทฯ ได้ทำงานตามแบบและตามสัญญานั้นเป็นเพียงข้ออ้างของบริษัทเพราะความจริงคือบริษัทไม่ทำตามสัญญาและข้อกำหนดดังนี้
7.1 บริษัทมีการจ้างช่วงโดยจ้างบริษัท เพาเวอร์ไลน์ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 3,000 ล้านบาท และบริษัทอื่น ๆ ผิดสัญญาชัดเจนเพราะไม่เคยได้รับการอนุมัติจากผู้ว่าจ้างเลย
7.2 ไม้ตะเคียนทองตามข้อกำหนดในสัญญาไม้ยาว 3 เมตร จำนวน 27,300 แผ่น กรมป่าไม้ตรวจสอบและเป็นไม้พะยอม และมีใบเสร็จจากโรงไม้ที่บริษัทซิโน-ไทยฯ นำส่งปรากฏเป็นไม้กระยาเลย 6,500 แผ่น นางพรพิศมีคำสั่งให้ตรวจสอบไม้ ขณะนี้คกก.ตรวจการจ้างยังไม่ตรวจสอบหรือตรวจสอบช้ามาก
7.3 เสาไม้สักรอบสภา 4,200 ต้น ขึ้นราและแตกร้าว 2,400 ต้น และไม้ไม่ได้อายุที่จะนำมาใช้งาน
7.4 ผนังห้องประชุมกรรมาธิการ บริษัทมีเจตนาสร้างผิดแบบ เพราะบริษัทผู้ควบคุมงาน บริษัทที่ปรึกษา บริษัทผู้ออกแบบเห็นตรงกันว่าผิดแบบ แต่ผู้รับจ้างมีเจตนาสร้างผิดแบบถึง 65 ห้องของฝั่ง ส.ส. และทำตามแบบ 48 ห้องที่ฝั่ง สว. สุดท้ายนางพรพิศอนุมัติให้ตามบริษัทที่สร้างผิดแบบ
7.5 หินวิทิตา หินทราโวทีน ไม่เป็นไปตามแบบ หินแกรนิตสีดำสีไม่สม่ำเสมอ
7.6 เสาไฟสูง 15 เมตร เกือบ 100 ต้น ไม่เป็นไปตามแบบคือ หล่ออัลลอยด์ทั้งต้น แต่เป็นเหล็กแผ่นม้วนแล้วเชื่อมเป็นเสา
7.7 สายไฟฝังดิน 2,700 เมตร ไม่ทำตามแบบ ไม่มีแผ่นปูนปิดทับ
7.8 ต้นไม้ที่ตายจำนวนนับร้อยต้นยังไม่มีการปลูกใหม่ ถ้าปลูกใหม่ต้องทำตามข้อกำหนดในสัญญา คือใช้เวลา 8+8 เดือน เท่ากับ 16 เดือน ต้องใช้ต้นไม้ขนาดตามข้อกำหนดในสัญญา บริษัทมาขอลดงานปลูกต้นไม้ซึ่งเจตนาไม่ต้องเสียค่าปรับในเวลา 16 เดือนนั่นเอง ค่าปรับงานก่อสร้างล่าช้าวันละ 12,280,000 บาท
7.9 กรณีประตูไม้กันเสียงห้องประชุมกรรมาธิการ 148 บาน ตามข้อกำหนดต้องทำด้วยไม้แต่บริษัท ซิโน-ไทยฯ นำประตูเหล็กมาใส่ ส่อเจตนาอย่างไร
7.10 ลานออกกำลังกายดาดฟ้าชั้น 5 แตกร้าว น้ำท่วมขัง ไม่ได้มาตรฐาน
7.11 ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ แตกร้าว เป็นตะไคร่ ลื่นมีแอ่งน้ำขัง ราวจับเป็นสนิม
7.12 ตอนฝนตกมีน้ำรั่วตามเพดานชั้นต่าง ๆ และมีน้ำซึม น้ำไหล โคนเสาคอนกรีตตอหม้อชั้นใต้ดินบี 2 จำนวน 23 ต้น และเกิดตาน้ำ น้ำซึมลานจอดรถและห้องจัดเลี้ยงชั้นบี 2 กว่า 100 จุด
7.13 ดินถมอาคารรัฐสภาฯ ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด มีการนำเอาขยะ ยางรถยนต์เททับถมแทนดินและอื่น ๆ
8. บริษัทเซ็นสัญญาก่อสร้าง 900 วัน วงเงิน 12,280 ล้านบาท เบิกจ่ายไปเกือบหมดแล้วได้ขยายเวลาก่อสร้างถึงสิ้นปี 2563 ขัดมติคณะรัฐมนตรีที่ให้สร้างให้เสร็จภายในปี 2562 ได้ขยายเวลาก่อสร้าง 4 ครั้ง รวม 1,864 วันถึงวันนี้ (20 ตุลาคม 2565) เป็นวันก่อสร้างสภาวันที่ 3,422 วัน ต้องคิดค่าปรับจำนวน 658 วัน การก่อสร้างก็ยังไม่แล้วเสร็จ
9. เว็บไซต์เกี่ยวกับงานก่อสร้างของสำนักงาน สผ. มีไว้ทำไม ไม่เคยลงข้อมูลใหม่ที่เป็นปัจจุบันหรือแจ้งประเด็นสำคัญเลย
ถ้าทางราชการจะไม่ปรับบริษัทนี้แม้แต่บาทเดียว ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน บริษัทกล้ารับประกันหรือไม่ว่าน้ำจะไม่รั่วอีกทั้งหลังคาและชั้นใต้ดิน การที่ผู้แทนบริษัทมาแถลงไม่ตรงต่อความเป็นจริงเช่นนี้
มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ถ้าตนเป็นผู้ถือหุ้นจะเสนอปลดกรรมการผู้จัดใหญ่ เพราะไม่มีประสิทธิภาพ ผลงานสาธารณชนร้องยี้ใช่หรือไม่
และที่กล่าวหาว่าฝ่ายการเมืองข่มขู่กรรมการตรวจการจ้างฯนั้น จริงๆแล้วฝ่ายการเมืองชี้นำกรรมการตรวจการจ้างมากกว่า