About Me

header ads

วัชระค้านแหลกพรพิศ-สาธิต เตรียมแก้สัญญายกเลิกงานปลูกต้นไม้ให้ผู้รับเหมาในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ส่อเอื้อประโยชน์เอกชน ชี้หากดึงดันเรื่องถึงป.ป.ช.แน่นอน





(11 ต.ค.65 )เมื่อเวลา 10.48 น.ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านงานสารบรรณถึงนางพรพิศ เพชรเจริญ  เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานคณะกรรมการตรวจรับงานโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่และคณะกรรมการทุกคน เพื่อคัดค้านงานลดขนาดต้นไม้ 54 ต้นในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยอ้างถึงหนังสือบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เลขที่ SINOTHAI/J.2436/L-1939/RO. ลงวันที่ 26 ก.ย.65 เรื่อง แจ้งอุปสรรคขัดข้องกรณีต้นไม้ใหญ่ในกระบะปลูกภายในอาคารตายและไม่สามารถนำต้นไม้ขนาดเดิมเข้าไปปลูกทดแทนได้ และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา  เช่น ลดงานโดยเปลี่ยนมาใช้ขนาดของต้นไม้ที่เล็กลง หรือยกเลิกงานปลูกต้นไม้เพื่อจัดจ้างผู้ชำนาญการอื่นแทน โดยการแก้ไขสัญญางานพิเศษและแก้ไขงาน ตามเงื่อนไขสัญญาข้อ 19 นั้น 


จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกิจการร่วมค้าสงบ 1051 ในฐานะผู้ออกแบบ และกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ATTA ในฐานะผู้ควบคุมงาน โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ กรณีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับจ้างก่อสร้างขอลดขนาด ต้นไม้ จำนวน 54 ต้น  ปรากฏรายละเอียดดังนี้ 


1. กิจการร่วมค้าสงบ 10511 ผู้ออกแบบ มีความเห็นว่าผู้รับจ้างสามารถนำต้นไม้ขนาดตามสัญญาเข้าอาคารได้ ควรทำตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในสัญญาเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในการบริหารสัญญาและการตรวจรับงาน

2. กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ATTA ผู้ควบคุมงาน มีความเห็นว่าให้ผู้รับจ้างจัดหาต้นไม้ขนาดเดิมตามสัญญาปลูกทดแทนต้นที่ตายอันเกิดจากความรับผิดชอบในการทำงานปลูกและดูแลของผู้รับจ้างเอง และให้เร่งรัดดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า 

นายวัชระ เพชรทอง กล่าวว่า ต้องคัดค้านงานลดขนาดต้นไม้ 54 ต้นในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เนื่องจาก

1. สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ลงนามเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 10 ปี ผู้รับจ้างไม่เคยยกเรื่องต้นไม้ใหญ่ในกระบะปลูกภายใน อาคาร อาทิเช่น “อายุของต้นไม้ใหญ่ขนาดลำต้น 12 นิ้ว-30 นิ้ว” มาเป็นอุปสรรคการปฏิบัติหน้าที่ของผู้รับจ้างก่อสร้างตามสัญญา ไม่อาจทำได้ถึงขั้นส่งมอบงานงวดสุดท้ายหรือจนสิ้นสุดพันธะ 30  สัญญา (เมื่อพ้นเวลาประกันผลงาน) แจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้ว่าจ้างทั้งในขณะช่วงประมูลงานและขณะจะลงนามในสัญญา รวมถึงขณะก่อสร้างได้ทราบ ดังนั้นจึงชัดเจนว่าผู้รับจ้างได้ยอมรับว่าสามารถที่จะดำเนินการเรื่องต้นไม้ใหญ่ในกระบะปลูกในอาคารได้อย่างครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ของสัญญา จนพ้นระยะเวลารับประกันผลงาน

2. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มีหนังสือเลขที่ SINOTHAI/J.2436/L-1874/RO ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 แจ้งขอส่งมอบงานโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภา แห่งใหม่ๆ 100% กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตามสัญญาเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เมษายน 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของผู้ควบคุมงานพบว่ามีต้นไม้ใหญ่ ขนาดต้นไม้ตามแบบที่มีขนาดลำต้นเล็กสุด 12” และมากสุด 30” ความสูง 15 เมตร และทรงพุ่มประมาณ 4 เมตร จำนวน 54 ต้น ในกระบะปลูกภายในอาคารยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในข้อบกพร่องของงานที่ผู้รับจ้างก่อสร้างเสนอส่งมอบงานงวดสุดท้าย ทางคณะกรรมการตรวจการจ้างจึงมีมติยังไม่รับมอบงานอันเป็นไปตามสิทธิของ ผู้ว่าจ้างตามสัญญาข้อ 35.1

ดังนั้น การที่ผู้รับจ้างมีหนังสือขอลดขนาดต้นไม้และขอแก้ไขสัญญางานพิเศษและแก้ไขงาน ตามเงื่อนไขสัญญาข้อ 19 จึงส่อว่าเอื้อประโยชน์กับผู้รับจ้างเพื่อลดข้อบกพร่องของงานที่จะตรวจรับงานงวดสุดท้าย (ถ้าผู้รับจ้างจะส่งซ้ำอีกครั้ง) ซึ่งการแก้ไขสัญญาตามที่ผู้รับจ้างก่อสร้างเสนอหากมีขึ้นย่อมจะเป็นการทำโดยมิชอบตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 97 แล้ว เนื่องจากผู้ควบคุมงานมีความเห็นว่าต้นไม้ที่ตายเกิดจากความรับผิดชอบในการทำงานปลูกและดูแลของผู้รับจ้างเอง

3. ผู้ออกแบบและผู้ควบคุมงาน มีความเห็นว่าผู้รับจ้างต้องจัดหา ต้นไม้ที่มีขนาดเดิมตามสัญญาเนื่องจากการตรวจสอบสามารถนำต้นไม้ขนาดเดิมเข้าภายในอาคารได้

4. ระยะเวลาที่เสียไปเพื่อแก้ไขปลูกต้นไม้ทดแทนต้นที่ตายลง ผู้รับจ้างจะถือเอาเป็นเหตุมาอ้างขอขยายระยะเวลามิได้ตามที่สัญญาจ้างระบุไว้ในข้อ 6.2 และข้อ 20.2 ของเงื่อนไขทั่วไปและการที่ผู้รับจ้าง อ้างว่าการปลูกต้นไม้ของผู้รับจ้างได้ผ่านการตรวจอนุมัติจากผู้ควบคุมงานและคณะกรรมการตรวจการจ้างแล้ว ก็ไม่ชอบด้วยตามสัญญาในข้อ 14 ของเงื่อนไขทั่วไป

5. จากกรณีที่ผู้รับจ้างมีการเสนอขอเปลี่ยนแปลงขนาดหรือชนิดของพันธุ์ไม้ตามนัยของหนังสือของผู้รับจ้างตามหนังสือที่อ้างถึง เป็นการเสนอที่ขัดกับข้อกำหนดในรายการประกอบแบบภูมิสถาปัตยกรรม หมวดที่ 4 งานพืชพรรณไม้ข้อที่ 5 ที่ระบุว่า ผู้รับจ้างจะต้องทำหนังสือแจ้งต่อผู้ควบคุมงานเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 250 วัน ก่อนกำหนดแผนการปลูกอีกทั้งต้นไม้ตามนัยของข้อกำหนดรายการประกอบแบบ & หมวดที่ 4 ที่ ระบุว่า ต้นไม้ใหญ่ที่กำหนดให้ปลูกในอาคารหรือบนโครงสร้างอาคาร  จะต้องมีการนำมาอนุบาลไว้ในพื้นที่โครงการไม่น้อยกว่า 8 เดือน (240 วัน) ก่อนแผนการปลูก และเมื่อนำมาปลูกในโครงการแล้ว การจะตรวจรับงานได้ต่อเมื่อพ้นระยะเวลา 240 วัน นับจากวันที่ต้นไม้ใหญ่ ตามนัยของข้อ 3.2-3.4 ต้นสุดท้ายได้ปลูกลงในพื้นที่ตามแบบอันเป็นไปตามข้อกำหนดข้อที่ 4.3.3 ของหมวดที่ 1 ข้อกำหนดทั่วไป งานภูมิสถาปัตยกรรม นั่นคือ ต้องมีกรอบเวลาอย่างน้อย 480 วัน (ถ้าใช้พันธุ์ไม้ตามขนาดในแบบ) ที่ผู้รับจ้างต้องปฏิบัติก่อนส่งมอบงานสุดท้าย 


นายวัชระ กล่าวย้ำว่า ตนได้รับทราบข่าวจากวงในที่เชื่อถือได้ระบุว่า มีกรรมการบางคนต้องการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้เอกชน โดยไม่สนใจผลกระทบที่ทำให้ราชการเสียหาย จึงขอให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการตรวจรับงานโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานของรัฐและผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งเป็นคู่สัญญากับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจี เนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือปฏิบัติตามสัญญางานก่อสร้าง กฎหมายและระเบียบโดยเคร่งครัดเพื่อรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชน ทั้งนี้หากยังยอมอนุมัติปรับลดงาน โดยเปลี่ยนมาใช้ขนาดของต้นไม้ที่เล็กลง หรือยกเลิกงานปลูกต้นไม้เพื่อจัดจ้างผู้ชำนาญการอื่นแทน โดยการแก้ไขสัญญางานพิเศษและแก้ไขงาน ตามเงื่อนไขสัญญาข้อ 19 ก็จะแจ้งสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวนการกระทำที่ส่อว่าเอื้อประโยชน์กับผู้รับจ้างต่อไป 


สำหรับสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ เลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เมษายน 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม วงเงิน 12,280,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน ขยายเวลางานก่อสร้าง 4 ครั้งรวม 1,864 วัน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 รวมระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาคือ 2,764 วัน และจนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ล่วงเลยกำหนดเวลางานแล้วเสร็จตามสัญญา จำนวน 648 วัน รวมระยะเวลางานก่อสร้าง (2,764 + 648 วัน) 3,412 วัน งานก่อสร้างก็ยังไม่แล้วเสร็จ ค่าปรับคิดเป็นวันละ 12,280,000 บาท คิดเป็นเงินค่าปรับที่ควรจะได้เข้ารัฐทั้งสิ้น 7,957,440,000 บาท (เจ็ดพันเก้าร้อยห้าสิบเจ็ดล้านสี่แสนสี่หมื่นบาทถ้วน)