About Me

header ads

เบ่งกล้ามไทย คว้า 5 ทองเพาะกายชิงแชมป์โลก วันแรก

    “จีรพันธ์ โป่งคำ” นักเบ่งกล้ามไทยทำผลงานได้สุดยอดคว้าแชมป์โลก ประเภทซีเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 60 กก. 5 สมัย ส่วน  “ครูแต” ศิริพร ศรช่วย ได้แชมป์โลกประเภทซีเนียร์ฟิตเนสหญิง รุ่นความสูงไม่เกิน 165 ซม. สมัยที่ 2 ขณะที่ สาคร มาตรวังแสง ซิวแชมป์ประเภทมาสเตอร์ เพาะกายชาย รุ่นอายุเกิน 60 ปี เป็นสมัยที่ 5 ขณะที่ พรชัย ธรรมสังวาลย์ ได้แชมป์โลกประเภทฟิตเนสชาย รุ่นความสูงไม่เกิน 170 ซม. เป็นครั้งแรก ด้วยการล้มวันชัย กาญจนพิมาย อดีตแชมป์โลก 9 สมัย และ พัชรพงษ์  พจนะโกสีย์ เป็นแชมป์โลก ประเภทฟิตเนสชาย รุ่นความสูงเกิน 170 ซม. สมัยที่ 2

     การแข่งขันกีฬาเพาะกายและฟิตเนสชิงแชมป์โลก ประจำปี 2022 ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม ที่เซ็นทรัล ภูเก็ต โดยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.เป็นการแข่งขันวันแรก โดยมี พลตำรวจเอก เดชณรงค์  สุทธิชาญบัญชา รองประธานคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา คนที่สาม และประธานคณะอนุกรรมาธิการกีฬาอาชีพและอุตสาหกรรมกีฬา เป็นประธานเปิดการแข่งขัน ร่วมด้วย ดาโต๊ะพอล ชัวร์ ประธานสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก (WBPF) โดยมี นายศุกรีย์ สุภาวรีกุล นายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขาธิการ





ร่วมของสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก กล่าวรายงาน นอกจากนี้ ยังมี ดร.ภูมิวรินทร์ ชุหะวงษ์วริศ  ประธานสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมมอบรางวัลให้กับนักกีฬา

   สำหรับ การแข่งขันวันแรก เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.มีการชิงชัยทั้งหมด 15 รุ่น โดยนักกีฬาไทย วันแรก จะลงแข่งขันทั้งหมด 18 คน 

   ประเภทซีเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 60 กก.จีรพันธ์ โป่งคำ เจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ ที่เวียดนาม แชมป์โลก และแชมป์เอเชีย ประเดิมคว้าเหรียญทองเหรียญแรกให้ทัพนักกีฬาไทย และเป็นแชมป์โลก สมัยที่ 5 ที่ 2 ดิปู ดูทตา (อินเดีย) ที่ 3 คอร์เนลิส (อินโดนีเซีย) 

    “ยนต์” จีรพันธ์ โป่งคำ เปิดเผยว่า แชมป์โลก ครั้งนี้ เป็นสมัยที่ 5 ดีใจมากๆ ครับที่ทำได้ หลังจากได้แชมป์โลก เมื่อปี 2559 ก็หยุดพักเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่ได้ลงแข่งมา 3 ปี ปีนี้ กลับมาแข่งขันประเดิมด้วยเหรียญทองซีเกมส์ที่เวียดนาม, แชมป์เอเชียที่มัลดิฟท์ และรายการนี้ แชมป์โลกที่ไทย ส่วนเป้าหมายในปีหน้า จะเริ่มจากป้องกันแชมป์ซีเกมส์ 2023 ที่ กัมพูชาให้ได้

      ประเภทซีเนียร์ฟิตเนสหญิง รุ่นความสูงไม่เกิน 165 ซม.ศิริพร ศรช่วย ได้แชมป์โลกอีกสมัย เป็นสมัยที่ 2 ที่ 2 เบอร์นาเด็ต บริจิตรา สเตฟาน (ฮังการี) ที่ 3 บาทาร์ไซข่าน คูลาน (มองโกเลีย)

         “ครูแต” ศิริพร ศรช่วย เปิดใจว่า ดีใจมากที่ได้แชมป์โลกเป็นสมัยที่ 2 หลังจากเคยได้แชมป์โลกมาเมื่อปี 2018 ที่เชียงใหม่ โดยปีนี้ ได้เหรียญเงินมิกซ์แพร์ซีเกมส์ที่เวียดนาม และ 2 เหรียญทองชิงแชมป์เอเชีย ที่ทับดิฟท์ มารายการนี้ ได้เหรียญทองชิงแชมป์โลกที่ไทยอีกครั้ง ทำให้ในปีหน้ายังมีภาระกิจที่ต้องรับใช้ทีมชาติอีก

   ประเภทมาสเตอร์ เพาะกายชาย รุ่นอายุเกิน 60 ปี ที่ 1 สาคร มาตรวังแสง ได้แชมป์อีกสมัย เป็นสมัยที่ 5 ที่ 2 สุวิจักขณ์ พินทุสรชัย อดีตแชมป์โลกปี 2019 ที่ 3 ตารุน คูมาร์ ชาเตอร์จี (อินเดีย)

    ประเภทฟิตเนสชาย รุ่นความสูงไม่เกิน 170 ซม. พรชัย ธรรมสังวาลย์ ได้แชมป์โลกครั้งแรก ส่วนวันชัย กาญจนพิมาย อดีตแชมป์โลก 9 สมัย ได้ที่ 2 ที่ 3 ฮามิดุลลาห์ ครุสดิล (อาฟกานิสถาน)

    ประเภทฟิตเนสชาย รุ่นความสูงเกิน 170 ซม. พัชรพงษ์  พจนะโกสีย์ ได้แชมป์โลก สมัยที่ 2 ส่วนเรือโทดำรงค์ศักดิ์ สร้อยศรี อดีตแชมป์โลก 5 สมัย ได้ที่ 2 ที่ 3 อามิร์ฮุสเซน ยูเซฟี (อิหร่าน) ส่วน ณัฐวัตร โพธิ์ฉัตร ไม่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ เรื่องจากมีการกำหนดให้แต่ละชาติ เข้ารอบได้ชาติละ 2 คน

      ประเภท จูเนียร์ ฟิตเนสหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี สิรินดา  พันสถา ได้เหรียญเงิน เหรียญทองเป็นของ เบอร์นาเด็ต บริจิตรา สเตฟาน (ฮังการี) เหรียญทองแดง ฟาน ทราน เทียน ตรัง (เวียดนาม) นอกจากนี้ ยังได้เหรียญทองแดง ประเภทซีเนียร์ฟิตเนสหญิง รุ่นความสูงเกิน 165 ซม. ขณะที่ นักกีฬาไทยอีกคน พันจ่าอากาศตรีหญิงอาจารี แท่นทรัพย์ ได้ที่ 4 ประเภทซีเนียร์ฟิตเนสหญิง รุ่นความสูงเกิน 165 ซม. โดยมี ตา ทิ หงอก บิช (เวียดนาม) ได้ที่ 1 ที่ 2 อูราซบาเยวา อเล็กซานดร้า (คาซัคสถาน)

   ประเภท จูเนียร์ โมเดลฟิสิคหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี สิรินดา พันสถา ยังแข่งอีกในประเภทที่ 3 ได้ที่ 4 โดยมี กันโซลมอน อินดรา (มองโกเลีย) ได้แชมป์ ที่ 2 โซลิเมีย จาโจ (อินเดีย) ที่ 3 เบอร์นาเด็ต บริจิตรา สเตฟาน (ฮังการี)

   ประเภทจูเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 75 กก.  อุษมาร์  ลอตันหยง ได้ที่ 2 โดยมี ชินกีอินแกมบา อโศกปาม (อินเดีย) ได้ที่ 1 ที่ 3 คูมานเทม ซูชิล คูมาร์ ซิงห์ (อินเดีย)

    ประเภทซีเนียร์ เพาะกายหญิง รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 55 กก. จิรฐา จุฑานิชกานต์ ได้ที่ 3 โดยแชมป์เป็นของ อัน-นิม ยาสมิน (ทาจิกิสถาน) ที่ 2 เมลลอรา โดรา จิมมี่ (มาเลเซีย)

     ประเภทซีเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 55 กก.เกษม รัตนพร ได้ที่ 4 ที่ 1 เจเจ ชากราบอร์ตี้ (อินเดีย) ที่ 2 โมฮาหมัด มูซา (มัลดิฟท์) ที่  3 ฟาม ดิน ดวง (เวียดนาม)

   ประเภทซีเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 65 กก. สุรศักดิ์  ปานเรือง ได้ที่ 4 ที่ 1 แอบบาส มากิ อาลี (บาห์เรน)

       ประเภทมาสเตอร์ เพาะกายชาย รุ่นอายุ 40-49 ปีอิทธิภัฒฐ์  ประทีป และสุรศักดิ์ ปานเรือง ตกรอบคัดเลือก

     ส่วน เกษม ศิริโสตร์ ตกรอบคัดเลือก ประเภทซีเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 70 กก.และ ประเภทมาสเตอร์ เพาะกายชาย รุ่นอายุ 50-60 ปี 

   ด้าน วิชัย สิงห์ทอง ถอนตัวไม่แข่งประเภทซีเนียร์ เพาะกายชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 70 กก.เนื่องจากไม่สบาย

   สรุป วันแรก ไทยได้ 5 ทอง 3 เงิน 2 ทองแดง