ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวความสำเร็จหลังนำคณะผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคณะทำงานโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาดูงาน และหารือแนวทางความร่วมมือในอนาคต ในระหว่างวันที่ 5-12 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ในการเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมผู้บริหารวิทยาลัยเกษตร และเทคโนโลยีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคณะทำงานโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทย กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญและการให้การสนับสนุนของวุฒิสมาชิก แทมมี่ ดักเวิร์ท และ วุฒิสมาชิก ดิค เดอร์บิน ประธานคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากในวุฒิสภาแห่งมลรัฐอิลลินอยส์
“ภูมิหลังประเทศสหรัฐอเมริกาคล้ายประเทศไทย คือเป็นประเทศเกษตรกรรม 1 ใน 6 ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก เหมือนกับประเทศไทย ซึ่งการทำด้านเกษตรกรรม หัวใจสำคัญคือต้องมีความมั่นคงในเรื่องการบริหารจัดการน้ำหรือ Water Security จึงเป็นที่มาที่ทำไมเราจึงต้องมาดูงานที่สหรัฐอเมริกา และมลรัฐอิลลินอยส์ซึ่งเป็นรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของสหรัฐอเมริการ มีจีดีพีมากกว่าประเทศไทย เป็นที่ตั้งของหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีสถาบันการศึกษาด้านเกษตรกรรม และวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกอยู่หลายแห่ง” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า ในฐานะ รมช.ศึกษาธิการที่กำกับดูแลวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 47 แห่ง รวมถึงรับผิดชอบงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเห็นว่าการจะสร้าง Water Security เพื่อให้มีน้ำกิน น้ำใช้ หรือการสร้างพลเมืองด้านวิทยาศาสตร์ หรือ Citizen Science ต้องเริ่มจากการวางรากฐานที่สำคัญด้านการศึกษาเพื่อให้เด็กไทยมีทักษะทางด้านวิชาชีพหรือ Professional Skill มากกว่าการให้องค์ความรู้หรือ Knowledge Base แต่เพียงอย่างเดียว แต่ละสถานที่ที่ไปดูงานจึงมีความสำคัญทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ การบำบัดน้ำเสีย การปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในอนาคต รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนทั้งทางด้านเกษตรและวิชาสามัญทั่วไป โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ก้าวสู่ปีที่ 4 ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเรื่องน้ำผ่านการวางรากฐานทางการศึกษา ขับเคลื่อนนโยบายผ่านโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯ จนเกิดเป็นหลักสูตร “ชลกร” ดังนั้นการเดินทางมาในครั้งนี้จึงเป็นการมาเติมองค์ความรู้เพื่อที่จะเอาไปปรับใช้กับบริบทของประเทศไทยตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่ของวิทยาลัยเกษตรฯ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายองค์ความรู้ไปสู่ชุมชน ให้เกิดมีน้ำใช้ตลอดปี นำไปสู่การมีรายได้ สร้างอาชีพ สร้างความมั่นคง แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9
นอกจากนี้ยังได้มีการไปเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกันกับทาง Chicago High School for Agriculture Sciences ซึ่งเป็นโรงเรียนที่นำวิทยาศาสตร์มาปรับใช้กับเรื่องของการทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นรูปแบบแนวทางคล้าย ๆ กับโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ริเริ่มทำไปแล้วในโรงเรียนสังกัดสพฐ. ทำให้โรงเรียนสามารถผลิตแรงงานภาคเกษตรกรรม และสามารถนำความรู้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพสามารถเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร รวมถึงการสร้างรายได้ระหว่างเรียนได้ด้วย
รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนหารือกับโรงเรียน Illinois Mathematics and Science Academy (IMSA) ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการจัดระบบการศึกษาแบบองค์รวมให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายทุกด้าน ไม่ได้เน้นเฉพาะหลักสูตรที่เข้มข้นท่านั้น แต่ยังเน้นไปฝึกประสบการณ์ให้กับนักเรียนในการทำวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และคณาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับนักเรียนในส่วนอื่น ๆ เช่น การกล้าคิด กล้าทำ กล้าวิเคราะห์ และการสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมและชุมชนนอกเหนือไปจากการเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว สอดคล้องกับแนวคิด STEAM Education ของไทยที่ต้องการสร้างเด็กไทยให้เป็นทั้งคนเก่ง คนดี และอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข ถือเป็นนโยบายที่ได้ผลักดันให้มีการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณวุฒิสมาชิก แทมมี่ ดักเวิร์ท และ วุฒิสมาชิก ดิค เดอร์บิน ประธานคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากในวุฒิสภาแห่งมลรัฐอิลลินอยส์ รวมถึงทีมงานที่ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกในการดูงานครั้งนี้ และเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญพร้อมที่จะแบ่งปันข้อมูลทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ถือเป็นโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาครั้งสำคัญระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา และเป็นที่น่ายินดีว่า สิ่งที่ได้มาเห็นแบบอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะด้านการศึกษา หลายอย่างเราทำอยู่แล้ว ในขณะที่บางอย่างเรามีแนวคิดที่ต่อยอดไปมากกว่า โดยเฉพาะโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบที่เปิดโอกาสให้เด็กไทยได้เรียนวิทยาศาสตร์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ด้วยการพัฒนาครูเพื่อให้มีองค์ความรู้ทางด้านการสอนวิทยาศาสตร์ให้กระจายตัวครอบคลุมทั่วประเทศผ่านโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์มากกว่าที่จะให้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในโรงเรียนขนาดใหญ่เพียงบางแห่งทำให้ไม่สามารถรองรับจำนวนนักเรียนที่สนใจเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ได้อย่างครอบคลุม
"การมาดูงานในครั้งนี้หัวใจสำคัญคือการนำไปต่อยอดกับสิ่งที่ดิฉันได้วางรากฐานไว้แล้ว และมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในคราวนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในอนาคตเพื่อสร้างเด็กไทยให้มีศักยภาพทัดเทียมกับสากลภายใต้โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงผันผวนซับซ้อนไม่แน่นอน หรือที่เราเรียกว่า VUCA World" คุณหญิงกัลยากล่าวเสริมในตอนท้าย
ด้าน ดร.ปริเวท วรรณโกวิท ผู้จัดการโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ กล่าวว่ามี 2 หัวข้อหลัก ๆ ที่เราได้ไปศึกษาและดูงานในครั้งนี้ คือ 1.การยกระดับการศึกษา และ2.เน้นในด้านการจัดการน้ำ ซึ่งจะนำองค์ความรู้ที่ได้ในครั้งนี้มาประยุกต์ และเสริมสร้างให้เข้ากับหลักสูตร “ชลกร” เพื่อให้ขยายสู่ชุมชนตามเจตนารมณ์ของดร.คุณหญิงกัลยา โดยปัจจุบันหลักสูตร “ชลกร” ได้เปิดการเรียนการสอนมาเป็นปีที่ 2 มีนักศึกษามาเรียนแล้วกว่า 300 คน ซึ่งจะจบออกไปเป็นนักบริหารจัดการน้ำ หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเกษตรกรรมต่อไป
ดร.โสภา มะเครือสี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ กล่าวว่า การมาดูงานครั้งนี้ได้ประโยชน์อย่างมาก ทั้งในเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องนำมาปรับใช้กับการเรียนการสอน ซึ่งเรามีหลักสูตร “ชลกร” ซึ่งได้ออกแบบไว้ค่อนข้างครบถ้วนแล้ว ส่วนสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ในครั้งนี้จะนำไปพัฒนาให้ดีและเหมาะสมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง BCG ทั้งนี้สนใจเรื่องการนำน้ำเสียมาบำบัดเพื่อนำกลับไปใช้ซ้ำหรือ Zero Waste และเชื่อมั่นว่าการดูงานในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการวางรากฐานการศึกษาให้กับเยาวชนไทยภายใต้นโยบายของดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะยกระดับเด็กไทยให้มีความสามารถเทียบเท่ากับสากล
***********************