About Me

header ads

วช. หนุน มทส. เพาะเลี้ยงสกัดถั่งเช่าสีทอง หวังช่วยคนไทยลดค่ารักษาพยาบาล และเสริมรายได้เกษตรกรให้เพิ่มขึ้น







สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตระหนักว่าคนไทยยุคปัจจุบันเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนัก ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อาทิ ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ จึงได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยแก่รองศาสตราจารย์ ปริญญา น้อยสา แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในการดำเนินโครงการ “การพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงและสกัดถั่งเช่าเพื่อเพิ่มปริมาณสารออกฤทธิ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา” หวังช่วยคนไทยเจ็บป่วยน้อยลง ลดค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล และการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ลดการแบกรับภาระหน้าที่ของหมอและพยาบาลให้เบาลง เพิ่มพูนรายได้ให้เกษตรกรมีเงินมากขึ้น

 

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยทำงานหนักมากขึ้น ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อาทิ ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงมากขึ้น ส่งผลให้สุขภาพเกิดความทรุดโทรม เจ็บป่วยง่าย การดูแลสุขภาพผ่านการรับประทานอาหารเสริมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้คนเริ่มให้ความสนใจ เพราะเป็นทางลัดในการช่วยดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงขึ้น และช่วยยืดระยะเวลาให้กับร่างกายตนเองไม่ให้เจ็บป่วยง่าย ที่ผ่านมาถั่งเช่าจึงเป็นอาหารสมุนไพรที่ผู้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจ เพราะพิสูจน์แล้วว่ามีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระต้านการอักเสบของร่างกาย วช. จึงได้ให้การสนับสนุนผลงานวิจัย “การพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงและสกัดถั่งเช่าเพื่อเพิ่มปริมาณสารออกฤทธิ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา” ของ รองศาสตราจารย์ ปริญญา น้อยสา แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

 

รองศาสตราจารย์ ปริญญา น้อยสา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดทำงานวิจัยดังกล่าว จากที่ประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองอย่างแพร่หลาย วิธีการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองที่ได้รับความนิยม คือ การเพาะเลี้ยงถั่งเช่าบนฐานอาหารแข็งที่ประกอบไปด้วยเมล็ดธัญพืชผสมกับอาหารเหลว แล้วเลี้ยงในที่ไม่มีแสงเพื่อให้เส้นใยถั่งเช่าโต สลับกับการให้แสงเพื่อให้ถั่งเช่าสร้างดอก สาเหตุที่นิยมเพาะเลี้ยงถั่งเช่าวิธีนี้คือทำให้เกิดดอก ผลผลิตและปริมาณสารสำคัญตามต้องการ แต่วิธีการดังกล่าวใช้ระยะเวลานาน แต่งานวิจัยของทีมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองในอาหารเหลว โดยถั่งเช่าจะสร้างเส้นใยในของเหลว ไม่มีการสร้างดอก และจะสร้างสาร cordycepin ในอาหารไม่ต้องสกัด วิธีนี้ง่ายและใช้เวลาสั้นกว่าเดิม จาก 60 วัน เหลือ 30 วัน จึงง่ายต่อการเพาะเลี้ยงในขนาดที่ใหญ่ขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม


ส่วนความสำเร็จจนนำไปสู่การนำไปใช้หรือประโยชน์ที่เกิดจากงานการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าในอาหารเหลวนี้ สามารถนำสารออกฤทธิ์ไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเพาะเลี้ยง C.miltaris ยังสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรไทย ผลผลิตทางการเกษตรที่เกิดขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยา ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพกับคนไทย ลดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ จากความชราและความเสื่อมของร่างกาย เช่น โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และ โรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น เป็นการลดค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ทำให้คนไทยเจ็บป่วยน้อยลง และ ลดภาระหน้าที่ของหมอและพยาบาลอีกด้วย


นอกจากนี้ ในเรื่องของผลกระทบเชิงบวกต่องานวิจัยฯ ดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ปริญญา กล่าวย้ำว่า ในเชิงผลผลิตวิธีการเพาะเลี้ยงถังเช่าแบบนี้จะได้ปริมาณสารสำคัญสูงมากกว่า 2,000 mg/ml และสารสำคัญจากถังเช่ามีความสามารถในการออกฤทธิ์ต้านความชราของเซลล์ ต้านมะเร็ง และ ต้านอนุมูลอิสระได้ในปริมาณสูง ขณะที่ผลลัพธ์สารสำคัญจากถั่งเช่าสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยา ก่อให้เกิดผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ และงานวิจัยฯ ดังกล่าว ทำให้เกิดการต่อยอดการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของเครื่องสำอาง เช่น ครีมกันแดด เซรั่มต้านริ้วรอย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องดื่มสมุนไพร โดยใช้สรรพคุณในสารออกฤทธิ์ของถั่งเช่าเป็นตัวสำคัญในการประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สร้างมูลค่าเพิ่ม และสามารถนำไปจำหน่ายในรูปแบบสารสกัด เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย