วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นำเสนอการปรับกระบวนงานเพื่อมุ่งสู่ระบบราชการ 4.0 ผลงานที่โดดเด่น การสร้างความรัก ความสามัคคี และวัฒนธรรมที่ดีขององค์กรและกรมการพัฒนาชุมชนในอนาคต โดยมี นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานคณะผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ และ รศ.ดร.โชติชนะ วิไลลักขณา ผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) โดยมี นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนัก กอง ศูนย์ พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และภาคีเครือข่าย 7 ภาคีเครือข่าย ร่วมให้การต้อนรับและร่วมรับตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0)
นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยยุทธศาสตร์ภาครัฐในการพัฒนาชนบท ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงและสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านแผนปฏิบัติราชการ 4 เรื่อง ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถบริหารจัดการและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนการส่งเสริมและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง การสร้างความร่วมมือและส่งเสริมบทบาทเครือข่ายการพัฒนาชุมชนทั้งในและต่างประเทศ และการพัฒนาองค์กรให้ทันสมัย มีสมรรถนะสูง และมีธรรมาภิบาล บุคลากรมีอุดมการณ์และเชี่ยวชาญในงานพัฒนาชุมชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดกว้างและเชื่อมโยงข้อมูลให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีพัฒนากรทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่ มีอุดมการณ์จิตวิญญาณนักพัฒนา สั่งสมความเชี่ยวชาญในการทำงานกับชุมชน มีความสามารถในการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน พัฒนากรเปรียบประดุจญาติผู้ใกล้ชิดที่รับรู้ปัญหาความต้องการและร่วมแก้ไขความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้บริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน นำแนวคิดของการพัฒนาระบบราชการ 4.0 มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กร ออกแบบงานบริการให้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ถูกลง อาศัยหลักการประสานงานทุกภาคส่วน สร้างนวัตกรรมปรับเข้าสู่การเป็นดิจิทัล ภายใต้หลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ใน 3 ประเด็น ประการแรก มีการเปิดเผยโปร่งใสในการทำงาน เปิดกว้างด้วยกลไกการมีส่วนร่วม และการบูรณาการสานพลังทุกภาคส่วน ร่วมกับ 7 ภาคีการพัฒนา ได้แก่ ภาครัฐ วิชาการ เอกชน ประชาสังคม ประชาชน ศาสนา และสื่อมวลชน จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 38 ฉบับ กับ 80 หน่วยงาน ร่วมพัฒนาพื้นที่ระดับตำบลด้วยกลไก 3 5 7 อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ โคก หนอง นา การขจัดความยากจน การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทยตามโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกเพื่อมุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ประการที่สอง ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เชื่อมั่นและศรัทธาว่าคนทุกคนสามารถพัฒนาได้หากได้รับโอกาส ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้นำ กลุ่ม องค์กร เครือข่าย ด้วยการพัฒนาระบบงานบริการ ประชาชนใช้ประโยชน์จากข้อมูล มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการ อำนวยความสะดวก อาทิ การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง สร้างสัมมาชีพชุมชน ชับเคลื่อนตำบลสู่ความเข้มแข็ง มีแหล่งทุนชุมชนหนุนเสริมอาชีพ พัฒนาระบบ E-Service ระบบลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ออนไลน์ และการยกระดับการตลาดออนไลน์ (E-Commerce) และประการสุดท้าย กรมการพัฒนาชุมชนได้พัฒนาระบบ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อาทิ การประเมินผลการปฏิบัติราชการผ่านระบบออนไลน์ การกำกับติดตามการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม ด้วยโปรแกรม BPM แพลตฟอร์มสารสนเทศเพื่องานบริการ “Click ชุมชน” แพลตฟอร์มสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ “CDD EIS พกพา” ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาชุมชนขนาดใหญ่ CDD BIGDATA ระบบสำนักงานอัตโนมัติ OA สารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ e-saraban แผนพัฒนารายบุคคล IDP มาตรฐาน ISO 27001:2003 PDPA และระบบรักษาความปลอดภัยและสิทธิการเข้าถึงข้อมูล โปรแกรมจัดเก็บบันทึกและประมวลผล จปฐ.ออนไลน์ : SMART BMN ระบบประเมินความผาสุกออนไลน์ รวมถึงการประเมินความสุขมวลรวมของหมู่บ้าน GVH ใช้ KM พัฒนาคน พัฒนางาน แผนพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล หลักสูตรการพัฒนาบุคลากรในรูปแบบ 70 : 20 : 10 แผนปฏิบัติราชการ ระยะ 5 ปี แผนพัฒนาดิจิทัล แผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤติ BCP และศูนย์ฝึกอบรมครบวงจร
ทั้งนี้ คณะผู้ตรวจประเมินฯ ได้ให้สอบถามรายละเอียดที่เกี่ยวข้องตลอดจนให้คำแนะนำ และได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการผลงานที่โดดเด่นของกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ การขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) การส่งเสริมและอนุรักษ์ผ้าไทย ดอนกอยโมเดล และการพัฒนาและบริหารการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่องานพัฒนาชุมชน CDD BIGDATA