About Me

header ads

สปคม. กรมควบคุมโรค ห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน เสี่ยงติดเชื้อฝีดาษวานร หลังพบผู้ป่วย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

     นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เปิดเผยว่าสถานการณ์โรคฝีดาษวานร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มพบผู้ป่วยในกลุ่มเยาวชน ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 3 กันยายน 2566 มีรายงานผู้ป่วยในกรุงเทพมหานครรวม 203 ราย ส่วนใหญ่เป็น   คนไทย 158 ราย (ร้อยละ 78) ชาวต่างชาติ 45 ราย (ร้อยละ 22) เป็นเพศชาย 201 ราย (ร้อยละ 99) เพศหญิง 2 ราย (ร้อยละ 1) และเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี 20 ราย อายุเฉลี่ย 35  ปี อายุน้อยที่สุด 18 ปี และมากที่สุด 64 ปี ส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มชายรักชาย ประวัติเสี่ยงคือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย และสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย

     โรคฝีดาษวานร (MPOX) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (Smallpox) สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน และคนสู่คน การแพร่เชื้อในคนเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจหรือตุ่มหนองบริเวณผิวหนังของผู้ป่วย อาการจะเริ่มหลังได้รับเชื้อประมาณ 5 -21 วัน โดยมีอาการได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ และหมดแรง ต่อมาจะมีผื่นตามร่างกาย เช่น ใบหน้า ฝ่ามือฝ่าเท้า อวัยวะเพศ โรคนี้ส่วนใหญ่หายได้เอง  สามารถพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพส่วนบุคคล เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีอาการแทรกซ้อน 

     นพ.สุทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เวลานี้สถานการณ์ผู้ป่วยในไทยเริ่มแพร่ระบาดจากกลุ่มวัยทำงาน วัยรุ่น ไปสู่กลุ่มที่อายุน้อยลงได้แก่ เยาวชนวัยเรียน จึงขอเน้นย้ำประชาชนและเยาวชน งดการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสใกล้ชิด กับคนแปลกหน้าหรือไม่รู้จัก หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หากมีอาการสงสัย หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง สามารถแจ้งประวัติเสี่ยง และติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อตรวจหาเชื้อได้ทันที และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ (Smallpox) สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% อย่างไรก็ตามเด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อนจึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

-------------------------

สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค

5 กันยายน 2566