"...ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา อีกทั้งยังปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจน ว่า มีการใช้ชนิดของวัสดุไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาและไม่ตรงตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของผู้ออกแบบหลายเรื่อง อาทิ ไม้สักจำนวน 4,000 กว่าต้น พบว่า มี 2,400 ต้น ที่นำมาใช้ก่อสร้าง มีเชื้อราขึ้นและแตกจำนวนมาก เพราะอบไล่ความชื้นมาไม่ได้ที่ ทำให้ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ส่วนของพื้นอาคารยังใช้ไม้ผิดประเภทจากข้อกำหนดที่ต้องใช้ไม้ตะเคียนทอง แต่ใช้ไม้พะยอม หรือไม้ชนิดอื่นๆ แทน เรื่องแผ่นไม้ปูพื้นที่ต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 3 เมตร ยกเว้นกรณีจำเป็น ห้องกรรมาธิการไม่กันเสียง 65 ห้อง และหินทราโวทีนมีขนาดต่ำกว่าข้อกำหนด ต้นไม้ขนาดใหญ่ตาย 347 ต้น และไม่มีการปลูกทดแทน รวมทั้งต้นไม้ขนาดเล็กตายเป็นจำนวนมาก เป็นต้น ตนจึงได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อสอบสวนบุคคลที่ลงมติเห็นชอบทุกคนต่อไปโดยไม่ละเว้น..."
9 เมษายน 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากกรณีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ตน พร้อม นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และ นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีต ส.ว. ได้ร้องเรียนให้ตรวจสอบการทุจริตการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในยุคนางพรพิศ เพชรเจริญ อดีตเลขาธิการสภา ปม มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง แก้ไขรายละเอียดของงานก่อสร้างห้องประชุมกรรมาธิการ บริเวณชั้น 3 และชั้น 4 จำนวน 113 ห้อง ต่อ "ป.ป.ช." พร้อมกับได้ยื่นเรื่องขอให้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ในขณะนั้น ตั้งกรรมการสอบ นั้น ล่าสุด ทาง ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งความค้บหน้าของคดีมายังตนแล้ว โดยหนังสือดังกล่าว ระบุว่า
ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้ขอทราบความคืบหน้าในการตรวจสอบเรื่องกล่าวหา นางพรพิศ เพชรเจริญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับพวก ว่า มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง แก้ไขรายละเอียดของงานก่อสร้างห้องประชุมกรรมาธิการ บริเวณชั้น 3 และชั้น 4 จำนวน 113 ห้อง โดยมิชอบ ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเรียนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติรับเรื่องกล่าวหาดังกล่าวไว้พิจารณา เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ทั้งนี้ หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงเสร็จสิ้นแล้ว และคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาได้ผลเป็นประการใด จักแจ้งให้ทราบต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
นางดารณี ธรเสนา
ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1
ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
นายวัชระ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ย้อนไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่รัฐสภา ตนในฐานะอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และ นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีต ส.ว. ได้ยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เรื่อง ขอคัดค้านการตรวจรับงานแล้วเสร็จ 100% ของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ของคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ฉบับที่ 1
เหตุตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2556 สำนักงานเลขาธิการสภา ได้ลงนามสัญญาเลขที่ 116/2556 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จำนวน 12,280 ล้านบาท กำหนดเวลาแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งจนถึงวันที่ 4 ก.ค. รวมระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 3,353 วัน แต่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ตนจึงคัดค้านคณะกรรมการตรวจการจ้างในการตรวจรับงานแล้วเสร็จโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่า การก่อสร้างดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จครบถ้วนตามข้อกำหนดในสัญญา
อีกทั้งยังปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจน ว่า มีการใช้ชนิดของวัสดุไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาและไม่ตรงตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของผู้ออกแบบ เช่น ต้นไม้จำนวนมากตายจนถูกตัดเหลือแต่ตอ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบการฟื้นตัวและอยู่รอดของต้นไม้ได้ เพราะต้นไม้เหล่านั้นได้ตายไปก่อนการตรวจสอบ ส่งผลถึงระยะเวลา 240 วันของข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว ที่มีเพื่อตรวจการฟื้นตัวและการอยู่รอดของต้นไม้ จึงยังไม่เริ่มนับ เพราะไม่มีต้นไม้ที่อยู่รอดให้นับระยะเวลาเหล่านั้น จึงถือว่าการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ
นอกจากนี้ ไม้สักจำนวน 4,000 กว่าต้น พบว่า มี 2,400 ต้น ที่นำมาใช้ก่อสร้าง พบว่า มีเชื้อราขึ้นและแตกจำนวนมาก เพราะอบไล่ความชื้นมาไม่ได้ที่ ทำให้ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ส่วนของพื้นอาคารยังใช้ไม้ผิดประเภทจากข้อกำหนดที่ต้องใช้ไม้ตะเคียนทอง แต่ใช้ไม้พะยอม หรือไม้ชนิดอื่นๆ แทน และแผ่นไม้ปูพื้นต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 3 เมตร ยกเว้นกรณีจำเป็น ห้องกรรมาธิการไม่กันเสียง 65 ห้อง และหินทราโวทีนมีขนาดต่ำกว่าข้อกำหนด ต้นไม้ขนาดใหญ่ตาย 347 ต้น และไม่มีการปลูกทดแทน รวมทั้งต้นไม้ขนาดเล็กตายเป็นจำนวนมาก เป็นต้น สุดท้ายคือ การส่งมอบงานครั้งนั้นจะมีการตรวจสอบงานนาน ถือว่าสภาต้องรับผิดชอบ ตนไม่ติดใจผู้รับจ้างเพราะมีสิทธิทำธุรกิจก็ต้องทำกำไรทุกวิถีทาง แต่สภาต้องทำตามระเบียบการส่งมอบ
วันนี้เมื่อ ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งความคืบหน้ามายังตนในฐานะ สส.นอกสภาที่ทำงานติดตามความไม่ชอบมาพากลเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงรู้สึกว่า ป.ป.ช.ยุคนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้งานติดตามการทุจริตต่อภาครัฐที่ตนและพวกทำมีความคืบหน้า ...นายวัชระ กล่าวในที่สุด