ในอดีต เมืองยะลา เคยเป็นเมืองที่มีน้ำท่วมอยู่เสมอเพราะพื้นที่เราอยู่ริมแม่น้ำปัตตานีตลอดแนวฝั่งตะวันตกเป็นระยะทาง 10 กว่ากิโลเมตร และมีบึงแบเมาะอยู่ฝั่งตะวันออก เปรียบเสมือนมีน้ำล้อมเมือง เทศบาลนครยะลาจึงได้ทยอยดำเนินการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่การสร้างคันดินกั้นแม่น้ำความยาว 16 กิโลเมตรตลอดแนวแม่น้ำ การก่อสร้างประตูระบายน้ำ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การก่อสร้างท่อลำเลียงน้ำใต้ถนนขนาดใหญ่ เพื่อระบายน้ำในเมืองไปลงแม่น้ำปัตตานี และระยะต่อมาได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง แก้ปัญหาระบบระบายน้ำอย่างต่อเนื่องทุกปี เช่นการติดตั้งประตูน้ำและเครื่องสูบน้ำใหม่ บริเวณพื้นที่เสี่ยง บริเวณหลังโรงเรียนเทศบาล 5 ตลาดเก่า บริเวณท้ายซอยวิฑูรอุทิศ 10 บริเวณหลังหมู่บ้านเมืองทอง และบริเวณสนามหญ้าเทียมชุมชนจารูนอก ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาอุทกภัยรุนแรงในเขตเทศบาลเป็นเวลาหลายปี
แต่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจากโลกร้อนและวิกฤติโลกเดือด ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกแต่ละครั้ง จากที่เคยตกพรำๆ กลายเป็นฝนที่ตกหนักมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ที่เรียกว่า “ฝนระเบิด” หรือตกแบบหนักต่อเนื่องหลายๆวัน เช่นปลายปี 2566 พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ วัดปริมาณน้ำฝนได้วันละประมาณ 400 มิลลิเมตร ถ้ารวมปริมาณน้ำฝนทุกอำเภอในยะลาในช่วงนั้นคาดว่าประมาณ 2,000 มิลลิเมตร ที่ไหลมารวมกันในแม่น้ำสายบุรีและแม่น้ำปัตตานี ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในอำเภอรามัน บันนังสตา รวมทั้งอีกหลายอำเภอของจังหวัดนราธิวาส และ จังหวัดปัตตานี ประกอบกับพื้นที่แก้มลิง หรือพื้นที่รับน้ำในอดีต เช่น ทุ่งนาบุดี สะเตงนอก ก็มีการถมที่ดินสร้างหมู่บ้านจัดสรรมากขึ้น ทำให้จากเดิมเทศบาลเมืองสะเตงนอกเคยเป็นพื้นที่แก้มลิงของเทศบาลนครยะลา แต่เมื่อมีการขยายความเจริญ มีการถมที่ดินทุ่งนาเพื่อสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย หมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก วันนี้ทำให้น้ำจากสะเตงนอกไหลเข้าสู่เมืองยะลาเร็วขึ้น เช่นบริเวณสี่แยกเนินหูกวาง หมู่บ้านเมืองทอง วัดยะลาธรรมาราม และพื้นที่ตลาดเก่าฝั่งที่ติดบึงแบเมาะ กลายเป็นพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลาต้องเป็นแก้มลิงให้เทศบาลสะเตงนอก เพราะน้ำดังกล่าวจะไหลไปออกแม่น้ำปัตตานีที่สถานีสูบน้ำบ้านจารูพัฒนา รวมทั้งยังพบว่า มีการออกโฉนด ถมดินที่มีความผิดปกติ ขวางทางน้ำ ทำให้การไหลของน้ำเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ยากต่อการระบายน้ำ ในพื้นที่
ด้วยข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณจากส่วนกลางในการมาทำระบบระบายน้ำในพื้นที่บ้านเรา เพราะปัจจุบันพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ การจะแก้ปัญหาแบบครบวงจร คงจะต้องรอเวลาพอสมควร ดังนั้นถ้าเราแก้ปัญหาการระบายน้ำไม่ทัน แต่เราต้องมีระบบการแจ้งเตือนที่ดี เทศบาลนครยะลาจึงร่วมกับบริษัทเบดร็อค (บริษัทในเครือ ปตท.สผ) ดำเนินการติดตั้งเครื่องโทรมาตรวัดปริมาณน้ำฝน ตามพื้นที่อำเภอต่างๆ เพื่อรายงานปริมาณน้ำฝนแบบเรียลไทม์เข้าสู่ระบบแพลทฟอร์มภัยพิบัติของเทศบาล มีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำในคลอง และในแม่น้ำปัตตานี เพื่อทราบระดับน้ำในคลองและแม่น้ำว่าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ แล้วระบบจะทำการประมวลผล คาดการณ์ว่าจะมีน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ไหนบ้าง เวลาใด นอกจากนี้ระบบยังสามารถไปดึงข้อมูลว่าในพื้นที่ที่อาจจะเกิดน้ำท่วม มีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ เด็กอายุ 0-5 ปี อยู่บ้านเลขที่เท่าไหร่ชุมชนไหน กี่คน เพื่อจะได้แจ้งเตือนและช่วยอพยพมาสู่พื้นที่ปลอดภัยก่อนที่น้ำจะท่วม เพื่อลดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน โดยระบบเตือนภัยนี้จะเร่งทำให้เสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ เพราะพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนตกหนักประมาณเดือนพฤศจิกา-ธันวา-มกรา ของทุกปี นอกจากพื้นที่ในเขตเทศบาลนครยะลาแล้ว เราก็จะได้ประสานและแจ้งให้ องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย เพื่อเป็นระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ ที่ใช้เทคโนโลยีในการประมวลผล ซึ่งมีความแม่นยำ และคาดการณ์ได้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน และเทศบาลก็จะแจ้งเตือนประชาชนต่อไป